สวัสดีค่ะ ระหว่างที่admin กำลังมองหาที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องใช้รถเข็นก็มาเจอข้อมูลที่น่าสนใจมากๆในเวบไซต์ http://www.pwdsthai.com/ ซึ่งเผยแพร่คู่มือท่องเที่ยวชื่อ “ชีวิตมีไว้ใช้” เรียบเรียงโดยคุณวรุณยุพา เพชรสมัย แต่เนื่องจากรูปแบบไฟล์เป็น Epub ซึ่งต้องอ่านด้วย iphone หรือ ipad เท่านั้น adminเลยนำเนื้อหามาเรียบเรียงไว้ในเว็บไซต์ www.elifegear.com เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ได้อย่างกว้างขวาง ลองอ่านดูนะคะ จะได้วางแผนพาผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็นหรือรถเข็นไฟฟ้าออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุข และเห็นคุณค่าในตัวเอง
คำนำเสนอ
เฉพาะข้อจำกัดทางกายภาพก็ทำให้การดำรงชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวกอยู่แล้ว ทำไมต้องให้คนพิการและผู้สูงอายุออกมาเดินทางท่องเที่ยว แล้วการออกไปเดินทางท่องเที่ยวมิยิ่งทำให้ชีวิตและสุขภาพของเขาเหล่านั้นก้าวสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงกับอันตรายไปกันใหญ่หรอกหรือ ?
เพราะความคิดความเชื่อเช่นนี้เอง ทำให้ผู้คนในสังคมต่างพากันเชื่อว่า คนพิการและผู้สูงอายุควรพำนักรักษาตัวอยู่แต่เฉพาะในบ้าน พื้นที่ของชีวิตพวกเขาก็คือพื้นที่อันจำกัดภายในบริเวณบ้าน…เท่านั้นหรือ?
ในทางตรงข้าม หากสังคมและสมาชิกในครอบครัวเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มีโอกาสออกไปสู่โลกนอกบ้านบ้าง ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิตและที่สำคัญได้มีโอกาสสร้างประสบการณ์ดีๆและมีความหมายกับคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการมีชีวิตที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า เพราะโลกทัศน์มุมมองหรือว่าความรู้สึกของการมีชีวิตที่มีความหมายกับคนรอบข้างจะมีมากยิ่งขึ้น
มีข้อแนะนำว่า มนุษย์เรา ไม่ว่าจะพิการ สูงอายุ หรือวัยต่างๆ ควรที่จะกระตุ้นตัวเองให้มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการและผู้สูงอายุนั้น จำนวนมากยังควรที่จะมีบทบาทในสังคมได้อีกมาก แต่หากสังคมและคนที่อยู่รายรอบในชีวิตไม่เอื้อให้เขาได้มีโอกาสเปิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ เช่น การมีประสบการณ์จากการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ก็เสมือนเป็นการปิดกั้นไม่ให้ได้เรียนรู้โลกและชีวิตไม่ให้มีโอกาสได้ชื่นชมความงามของโลกทัดเทียมคนอื่นๆในสังคม ทำให้ชีวิตของคนกลุ่มนี้อาจตกอยู่ในสภาวะหดหู่หรือถดถอยได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
โครงการฯ นี้มิได้เกิดขึ้น เพียงแค่หวังประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ที่ได้ออกไปเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเน้นโอกาสที่เพิ่มขึ้นของคนพิการและผู้สูงอายุ กับครอบครัวและเพื่อนๆของเขา แต่ว่าคนที่อยู่ในสถานประกอบการหรือคนที่อยู่รอบข้าง ในสังคมบนเส้นทางที่เขาได้ออกไป ก็ควรจะถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในแง่ของการยกระดับจิตใจ การได้มีโอกาสที่จะเกื้อหนุนชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นการยกระดับจิตใจของการเป็นผู้ให้ ดังนั้น ทุกคนที่ได้พบปะกันบนถนนการเดินทางนี้ จึงเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับต่อกันและกัน
สังคมที่เอื้อหนุนกัน สังคมที่มีการให้และการรับ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน คือสังคมที่ทุกคนปรารถนา ถึงเวลาแล้วที่เราจะออกเดินทางไปเรียนรู้พร้อม ๆ กัน…
แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์
ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ
คำนำ
โครงการสำรวจและจัดทำแผนที่ท่องเที่ยวสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เกิดขึ้นด้วยความประสงค์ของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ร่วมกับหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการส่งเสริมให้คนพิการและผู้สูงอายุออกสู่สังคมได้สะดวกมากขึ้น จึงร่วมกันจัดทำชุดแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยชุดคู่มือและแผนที่ท่องเที่ยวชุดนี้จะเป็นคู่มือในการนำทางคนพิการและผู้สูงอายุออกสู่สังคมในรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะทำให้คนพิการและผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม เป็นการขยายตลาดการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
การทำงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ และผู้ประกอบการผู้ดูแลอาคาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ให้ข้อมูลในระหว่างดำเนินโครงการ รวมถึงบริษัท ก. ไก่ ที่ช่วยบริการด้านรถตู้กับคณะทำงานอย่างดี ทางคณะทำงานขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้ และหากการสำรวจในครั้งนี้มีข้อบกพร่องประการใด ทางคณะทำงานยินดีน้อมรับข้อแนะนำ เพื่อนำไปปรับใช้ให้ชุดข้อมูลครั้งนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป
คณะทำงาน
หน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ
ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สารบัญ
คำนำ
คำแนะนำในการใช้คู่มือชุดแผนที่
เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่และเชียงราย
เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมาและนครพนม
เส้นทางกรุงเทพฯ – นครปฐมและกาญจนบุรี
เส้นทางกรุงเทพฯ – ชลบุรีและระยอง
เส้นทางกรุงเทพฯ – นครศรีธรรมราชและสงขลา
คำแนะนำในการใช้ คู่มือชุดแผนที่
(Manual Instruction)
การจัดทำชุดแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุนี้ ได้แบ่งเป็น 5 เส้นทาง คือ
1) เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่และเชียงราย เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
2) เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมาและนครพนม เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี หนองคายและนครพนม
3) เส้นทางกรุงเทพฯ – นครปฐมและกาญจนบุรี เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
4) เส้นทางกรุงเทพฯ – ชลบุรีและระยอง เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรีและระยอง
5) เส้นทางกรุงเทพฯ- นครศรีธรรมราชและสงขลา เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงาและระนอง
โดยชุดแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุนี้ จะมีคำแนะนำในการใช้คู่มือ ดังนี้
1. วิธีการใช้คู่มือชุดแผนที่
ในชุดแผนที่ ได้กำหนดขอบเขตของอาคาร สถานที่ในการสำรวจไว้ดังนี้
– ประเภท สถานที่พักอาศัยเพื่อการท่องเที่ยว แบ่งระดับเป็นระดับ ดีเยี่ยม, ดีมาก, ดีและพอใช้
– ประเภท สถานที่ท่องเที่ยว แบ่งระดับเป็นระดับ ดีเยี่ยม, ดีมาก, ดีและพอใช้
– ประเภท การขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว แบ่งระดับเป็นระดับ ดีเยี่ยม, ดีมาก, ดีและพอใช้
– ประเภท ภัตตาคาร บาร์และสถานที่จำหน่ายอาหารเพื่อการท่องเที่ยว แบ่งระดับเป็นระดับ ดีเยี่ยม, ดีมาก, ดีและพอใช้
– ประเภท สถานที่ขายสินค้าที่ระลึก ของฝากหรือสินค้าพื้นเมือง แบ่งระดับเป็นระดับ ดีเยี่ยม, ดีมาก, ดี และพอใช้
สำหรับข้อมูลในแผนที่ แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 แสดงรายละเอียดของสถานที่แต่ละแห่ง โดยแบ่งเป็น สถานที่ตั้ง ข้อมูลสถานที่ และแผนที่เส้นทางของสถานที่นั้นๆ โดยมีรายละเอียดของสัญลักษณ์ ในคู่มือชุดแผนที่ มีดังนี้
3
สถานที่ตั้ง
ข้อมูลสถานที่
หมายเลขทางหลวง
แผนที่เส้นทาง
แสดงชื่อ สถานที่ และสัญลักษณ์ต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สีของขอบ หมายความได้ดังนี้
สีชมพู แสดงถึง เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่และเชียงราย
สีส้ม แสดงถึง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมาและนครพนม
สีฟ้า แสดงถึง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครปฐมและกาญจนบุรี
สีม่วง แสดงถึง เส้นทางกรุงเทพฯ – ชลบุรีและระยอง
สีเขียว แสดงถึง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครศรีธรรมราชและสงขลา
ส่วนที่ 2 แสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่สถานที่นั้นๆ ได้จัดไว้ โดยสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มี 4 อย่างคือห้องส้วม ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์และทางลาด
5
ส่วนที่ 3 เป็นสัญลักษณ์ ที่แทนความสามารถในการเข้าถึงของคนพิการและ ผู้สูงอายุ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
6เกณฑ์ พอใช้ เป็นเกณฑ์ที่คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้อาคาร-สถานที่นั้นได้ (โดยอาจจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานไม่ครบ)
7เกณฑ์ ดี เป็นเกณฑ์ที่ ทางอาคาร-สถานที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ที่สร้างเฉพาะสำหรับคนพิการ (อาจไม่ครบทั้ง 4 อย่าง) และคนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้อาคาร-สถานที่นั้นได้ อย่างดี
8เกณฑ์ ดีมาก เป็นเกณฑ์ที่ ทางอาคาร-สถานที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ที่สร้างเฉพาะสำหรับคนพิการที่ผ่านเกณฑ์ขั้นดีขึ้นไปครบทุกเกณฑ์ (เฉพาะที่อาคาร-สถานที่นั้นๆ จำเป็นต้องใช้) และบันได ราวจับ ทางเดิน ทางเชื่อม เคาน์เตอร์ ห้องพัก ห้องน้ำในห้องพัก ที่ทุกด้านผ่านเกณฑ์ในขั้นดีขึ้นไป
9เกณฑ์ ดีเยี่ยม เป็นเกณฑ์ที่ ทางอาคาร-สถานที่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ที่สร้างเฉพาะสำหรับคนพิการที่ผ่านเกณฑ์ขั้นดีขึ้นไปครบทุกเกณฑ์ (ที่ผ่านเกณฑ์ครบทุกข้อ) และบันได ลิฟต์ ราวจับ ทางเดิน ทางเชื่อม เคาน์เตอร์ ห้องพัก ห้องน้ำในห้องพัก และการบริการผ่านเกณฑ์ในขั้นดีเยี่ยม
รวมถึงสัญลักษณ์ที่แทนความสามารถในการเข้าถึงของผู้สูงอายุสตรีมีครรภ์ และคนพิการประเภทต่างๆโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
10เป็นสัญลักษณ์แทนความสามารถในการเข้าถึงอาคาร-สถานที่ของ ผู้สูงอายุ
11เป็นสัญลักษณ์แทนความสามารถในการเข้าถึงอาคาร-สถานที่ของ คนพิการทางร่างกาย
12เป็นสัญลักษณ์แทนความสามารถในการเข้าถึงอาคาร-สถานที่ของ คนพิการทางการมองเห็น
13เป็นสัญลักษณ์แทนความสามารถในการเข้าถึงอาคาร-สถานที่ของ คนพิการทางการได้ยิน
14เป็นสัญลักษณ์แทนความสามารถในการเข้าถึงอาคาร-สถานที่ของ สตรีมีครรภ์
รายละเอียดในชุดแผนที่ท่องเที่ยวแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุดังกล่าว ควรดูเนื้อหาทั้ง 3 ส่วนประกอบกัน จะเข้าใจและสามารถนำไปใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
2. คำแนะนำในการเดินทาง
คำแนะนำในการเดินทางท่องเที่ยวของคนพิการและผู้สูงอายุ
ประการแรกต้องมีใจที่อยากจะท่องเที่ยว รวมถึงต้องมีเวลาและเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับระยะเวลาและระยะทางที่จะท่องเที่ยว และการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน คนรู้ใจ
คนพิการและผู้สูงอายุ ไม่ควรไปเที่ยวตามลำพัง แต่ควรมีคนในครอบครัว เพื่อน คนรู้ใจหรือผู้ดูแลไปด้วย เพื่อความสะดวกของคนพิการและผู้สูงอายุเอง รวมถึงเป็นการสร้างความสามัคคี เข้าใจระหว่างกันได้
ควรมีวางกำหนดการเดินทางโดยต้องทราบว่าจุดมุ่งหมายที่จะไปนั้น จะไปเที่ยวที่ใดบ้าง จะพักในที่ใด เพราะต้องคำนึงถึงสถานที่พัก ที่สะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุด้วย โดยในชุดแผนที่นี้ได้ลงรายละเอียดของสถานที่พักในจังหวัดที่คณะทำงานทำการสำรวจไว้ด้วย) รวมถึงการเตรียมแผนที่เส้นทาง จุดแวะพักต่างๆ (เพราะผู้สูงอายุ จะเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าบุคคลทั่วไป)
พาหนะในการเดินทางท่องเที่ยว ควรเป็นพาหนะส่วนตัว หรือรถเช่า ทางคณะทำงานไม่แนะนำให้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน เครื่องบิน เรือ เพราะถึงแม้ในการคัดเลือกของคณะทำงาน ทั้งสนามบินและสถานีรถไฟจะผ่านเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่ตัวรถ เครื่องบิน เรือ รถไฟนั้น คนพิการและผู้สูงอายุจะเข้าถึงค่อนข้างยากลำบาก
มีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ ยา เฉพาะตัว สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
ทางคณะทำงานแนะนำให้เดินทางในวันจันทร์-วันพฤหัสบดี ถ้าจะท่องเที่ยวในวันศุกร์-อาทิตย์ วันหยุดหรือเทศกาล คนพิการและผู้สูงอายุควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทางเช่นจองห้องพัก เป็นต้น
3. คำแนะนำในการเตรียมอุปกรณ์
ควรจัดเตรียม อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น
4 กลุ่มประเภทดังนี้
อุปกรณ์สำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว เช่น คนพิการและผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ ควรจัดเตรียมเครื่องช่วยพยุงขา (Brace) ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน และแขนขาเทียม ให้พร้อมก่อนการเดินทาง รวมถึงเตรียมอุปกรณ์เสริมไปด้วยเช่น ที่สูบลมยาง เป็นต้น
อุปกรณ์สำหรับคนพิการซ้ำซ้อน เช่น คนพิการซีพี ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ กระดานสื่อสาร อุปกรณ์การรับประทานอาหารแบบพิเศษที่ช่วยให้คนพิการสามารถรับประทานอาหารเองได้ และเครื่องช่วยอื่นๆ สำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว
อุปกรณ์สำหรับคนพิการทางการมองเห็นควรจัดเตรียมอุปกรณ์ อันได้แก่ อักษรเบรลล์ อุปกรณ์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น (Low-vision devices) ไม้เท้าขาว และนาฬิกาพูดได้
อุปกรณ์สำหรับคนพิการทางการได้ยิน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ช่วยในการฟังและการสื่อสารทางไกล นอกจากนี้ควรจัดเตรียมอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ถุงปัสสาวะ เบาะรองนั่ง ยาประจำตัว เป็นต้น