fbpx

สัญญาณบ่งบอกว่าคุณเป็นวัยทอง และโรคที่อาจตามมา

สัญญาณบ่งบอกว่าคุณเป็นวัยทอง และโรคที่อาจตามมา

หลายคนคงเคยได้ยินมาเยอะมากๆกับคำว่า “วัยทอง” หรืออาการที่คนที่เริ่มมีอายุเป็นกัน และหลายครั้งคนวัยทองจะควบคุมอารมณ์ยากมากๆ ทำให้หลายๆครั้งก่อให้เกิดปัญหากับคนในครอบครัว หากไม่ได้รับการเข้าใจหรือได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จริงๆแล้วอาการเหล่านี้ที่เหมือนพูดกันเล่นๆ แต่ทางการแพทย์มีข้อมูลอธิบายได้ว่า “วัยทอง” เกิดจากอะไร และรับมืออย่างไร วันนี้ elife ก็ได้นำความรู็เกี่ยวกับวัยทองมาให้เพื่อนๆได้ทราบกันครับ

“วัยทอง” คืออะไร

วัยทอง คือ ช่วงวัยที่ร่างกายคนเรามีภาวะฮอร์โมนเพศลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะลดลงอย่างรวดเร็วมาก จึงทำให้มีอาการแสดงออกของวัยทองที่ค่อนข้างชัดเจนและรุนแรง อาการวัยทองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งสำหรับผู้หญิงจะเป็นช่วงเวลาหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1 ปี ถ้านับตามค่าเฉลี่ยอายุแล้วก็จะอยู่ที่ราวๆ อายุ 45-50 ปีเป็นต้นไป ส่วนในผู้ชาย วัยทองจะเริ่มในช่วงอายุประมาณ 50-55 ปี ที่เริ่มช้ากว่าผู้หญิง ก็เพราะการลดลงของฮอร์โมนเพศในผู้ชายนั้น จะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนและรุนแรงเหมือนอย่างวัยทองในผู้หญิงนั่นเอง

อาการแบบไหนคือ “วัยทอง

อาการวัยทองใน “ผู้หญิง”

1.อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

2.นอนหลับยาก นอนไม่ค่อยหลับหรือนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นกลางดึก

3.รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย

4.ปวดเมื่อตามกล้ามเนื้อ หรือปวดเมื่อยตามกระดูกและข้อ

5.รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป อ้วนง่ายขึ้น

 

 

อาการวัยทองใน “ผู้ชาย”

1.อ่อนเพลียง่าย เบื่ออาการ อ้วนลงพุง

2.ปวดเมื่อตามตัวโดยไม่มีสาเหตุ

3.ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็ว

4.กระสับกระส่าย เครียดและหงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา ซึมเศร้า ขาดสมาธิในการทำงาน

5.นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก

6.สมรรถภาพและความต้องการทางเพศลดลง

ฮอร์โมนเป็นตัวกำหนดความเป็นหนุ่มสาวในร่างกายของคนเรา โดยในผู้หญิงฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคือ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” แต่สำหรับผู้ชายฮอร์โมนที่มีผลต่อสมรรถภาพ และความแข็งแรงของร่างกายคือฮอร์โมนที่ชื่อว่า “แอนโดรเจน” หรือ “Testosterone” ซึ่งสร้างจากฮอร์โมนเพศชายที่มีปริมาณมากที่สุดในช่วงอายุยี่สิบต้นๆ และจะลดลงอย่างช้าๆ เมื่ออายุมากขึ้นหลัง 40 ปี และเมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนก็จะลดลงเรื่อยๆ และการลดลงของฮอร์โมนนี้เองที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกาย

การรับมือกับ “วัยทอง”

เนื่องจากช่วงวัยทอง เป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศจะลดลงอย่างมาก ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม ดังนั้น ก่อนที่เราจะเข้าสู่ช่วงวัยทองของชีวิต แนะนำให้หาโอกาสเข้ามาพบแพทย์เพื่อพูดคุย ปรึกษา และทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว ร่างกายเราจะเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการอย่างไรบ้าง และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ให้สามารถผ่านช่วงวัยทองไปได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง ก่อนที่ประจำเดือนจะหมดถาวร หรือในช่วงที่ประจำเดือนมาแบบ 2-3 เดือนครั้ง มาๆ หายๆ ตอนอายุ 40 ปีปลายๆ นั่นก็ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ได้แล้วว่า ในอีกไม่ช้าเราก็จะเดินหน้าเข้าสู่วัยทองอย่างเต็มตัว ดังนั้นช่วงนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมความรู้ และเตรียมฟิตร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์เต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อถึงเวลาวัยทองจริงๆ ร่างกายที่ได้รับการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี จะมีความรุนแรงของอาการวัยทองลดลง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขได้มากขึ้น

โรคยอดฮิตของคนวัยทอง

1. เบาหวาน

โรคยอดฮิตในหมู่คุณแม่ผู้รักการรับประทานและไม่มีเวลาออกกำลังกาย เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการแน่ชัดจนกว่าจะไปตรวจสุขภาพ แล้วพบว่ามีค่าน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ ทั้งนี้ผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด และโรคไต ดังนั้นหากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น อ้วนลงพุง หรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวาน รวมทั้งมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

2. ความดันโลหิตสูง

ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ต่อเมื่อมีความดันโลหิต (ตัวบน / ตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ตลอดเวลา แม้ในระยะพักผ่อนปกติ จากข้อมูลงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้การตรวจวัดความดันโลหิตหากพบว่าความดันสูงผิดปกติ ควรทำการตรวจหลายๆ ครั้ง โดยกำหนดเวลาการตรวจให้ตรงกันทุกวัน เพื่อยืนยันว่าค่าความดันโลหิตปกติในชีวิตประจำวัน ที่ถูกต้อง หากพบว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างสูงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ เลย แต่อวัยวะภายในต่างๆ เสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอวัยวะถูกทำลายไปมากแล้ว หรือเริ่มมีอาการแสดง เช่น เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ อัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง ตัวบวมปัสสาวะออกน้อยจากโรคไตวาย ฯลฯ ซึ่งเป็นภาวะที่ยากจะฟื้นฟูอวัยวะเหล่านั้น ให้กลับมาเป็นปกติได้อีก

3. โรคหลอดเลือดสมอง

หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ออก ฟัง ไม่เข้าใจภาษา เห็นภาพซ้อน เดินเซ ตามัว ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นในทันทีทันใด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมอง ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติหรือสูญเสียไป

4. โรคสมองเสื่อม

สมองเสื่อมในผู้สูงวัย เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองหลายๆ ด้านแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มีการเสื่อมของระบบความจำ ความเข้าใจเหตุผล การคิดวิเคราะห์ และการควบคุมตนเอง
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การดูแลทางการแพทย์ จึงต้องเน้นการปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย รวมถึงช่วยเหลือญาติหรือผู้ดูแลในการรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย

เมื่อรู้แบบนี้แล้วหากบ้านไหนนะครับที่มีคนที่อายุเริ่มเข้าเลข 4 เลข 5 หรือคนที่เริ่มหมดประจำเดือนแล้ว ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจเขาหน่อยนะครับว่า จริงๆแล้วที่เขาเป็นแบบนั้นไม่ได้เกิดจากการที่เข้าเป็นคนแบบนั้น แต่เป็นเพราะฮอร์โมนของเขาที่หมดลง เป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ กลไกร่างกายมนุษย์ วันหนึ่งเราก็อาจจะมีอาการแบบเดียวกันกับเขาก็ได้