fbpx

สิ่งที่ควรรู้…ก่อนซื้อวีลแชร์

สิ่งที่ควรรู้...ก่อนซื้อวีลแชร์

เคยสงสัยไหมคะ? ว่าวีลแชร์หรือเก้าอี้รถเข็นเนี่ยจริงๆแล้วมันมีกี่แบบกันแน่ หน้าตาก็คล้ายๆกันหมดแล้วจะเลือกยังไงให้เหมาะกับผู้ใช้งานนะ? วันนี้อีไลฟ์จะมาบอกถึงประเภทของวีลแชร์ลักษณะต่างๆ และวิธีการเลือกใช้งาน ให้ประหยัดและเหมาะสมกับผู้ใช้งานมากที่สุด!! ไปดูกันเลย

 

เริ่มด้วยการมาดูประเภทของวีลแชร์

    1.รถเข็นสำหรับการพกพา

รถเข็นสำหรับพกพามีทั้งแบบไฟฟ้าและแบบแมนนวล แน่นอนค่ะว่ารถเข็นประเภทนี้ต้องมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก พับ-กาง ง่ายและสะดวก แต่เพราะมีขนาดที่เล็ก ทำให้เบาะและล้อของรถเข็นจะมีขนาดที่เล็กลงไปด้วย

รถเข็นแบบแมนนวลสำหรับพกพา

รถเข็นแมนนวลสำหรับพกพาจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 7-9 กิโลกรัม เหมาะกับผู้ใช้งานที่น้ำหนักไม่เยอะ รูปร่างเล็กถึงปานกลาง ผู้ใช้งานที่สามารถเดินได้แต่มีปัญหาเรื่องปวดเข่า เดินนานๆแล้วเมื่อย ในระยะเวลาสั้นๆ ใช้งานชั่วคราว เช่น การเดินห้าง  ไปโรงพยาบาล ใช้งานในบ้านหรือที่แคบ การเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เป็นต้น

ถึงรถเข็นประเภทนี้ทางร้านจะบอกว่ารับน้ำหนักได้ถึง 100-120กิโลกรัม สามารถนั่งได้ปกติ แต่ถ้าใช้งานเป็นเวลานานๆอาจจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อย และรถเข็นประเภทนี้ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเข็นด้วยตัวเองได้เพราะล้อจะมีขนาดเล็ก

ราคาอยู่ที่ 2,000-9,000บาท

รถเข็นแบบไฟฟ้าสำหรับพกพา

รถเข็นไฟฟ้าประเภทนี้จะมีขนาดเล็กเช่นเดียวกัน น้ำหนักอยู่ที่ 13-20 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่) น้ำหนักของไฟฟ้าจะมากกว่าแบบรถเข็นแมนนวลขึ้นมาเท่าตัว เพราะด้วยวัสดุ แบตเตอรี่ และสภาวะกำลัง ทำให้รถเข็นประเภทนี้ถึงจะมีขนาดที่เล็กแต่สามารถรับน้ำหนักได้เยอะและดีกว่ารถเข็นธรรมดา รับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 150 กิโลกรัม (แล้วแต่รุ่นควรสอบถามเจ้าหน้าที่ให้แน่ใจก่อนนะคะ) โดยทั่วไปจะมีโครงสร้างเป็นอลูมิเนียมเพราะเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและไม่ขึ้นสนิม สามารถพับเก็บได้การพับเก็บของรถเข็นไฟฟ้า มี2ประเภท พับเก็บด้วยตนเองและพับเก็บด้วยรีโมท คุณสมบัติพิเศษของรถเข็นไฟฟ้าที่ต่างจากรถเข็นธรรมดาคือเบาะของไฟฟ้ามีลักษณะ หนานุ่มกว่า ล้อแข็งแรงกว่า ผู้ใช้สามารถบังคับด้วยตนเองได้ผ่าน Joy stick และสามารถเข็นโดยผู้เข็นได้

ราคาอยู่ที่ 35,900-69,900 บาท

2. รถเข็นสำหรับใช้งานประจำ

เพราะใช้งานเป็นประจำรถเข็นประเภทนี้จะมีลักษณะขนาดใหญ่ เบาะกว้าง ล้อหลังใหญ่ และน้ำหนักค่อนข้างเยอะ วัสดุอาจจะมีทั้งเหล็กและอลูมิเนียม ผู้ใช้งานจะสามารถเข็นด้วยตนเองได้ทั้งระบบแมนนวลและระบบไฟฟ้า (แต่อาจจะมีบางรุ่นที่ล้อมีขนาดเล็กเพื่อการเคลื่อนไหวประหยัดเนื้อที่)

         รถเข็นแมนนวลสำหรับใช้งานประจำ

รถเข็นประเภทนี้จะมีเบาะกว้าง โครงสร้างขนาดใหญ่ ล้อหลังขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้เข็นสามารถเข็นด้วยตัวเองได้ มีน้ำหนักประมาณ 9-16 กิโลกรัม รับน้ำหนักได้ 100-120 กิโลกรัม เหมาะสำหรับผู้ที่มีช่วงตัวกว้าง ใช้งานเยอะ ต้องการทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวเอง  สามารถใช้ท่องเที่ยวได้

ราคาอยู่ที่ 6,000-9,000บาท

         รถเข็นไฟฟ้าสำหรับใช้งาน ใช้บ่อย

รถเข็นไฟฟ้าประเภทนี้จะมีน้ำเยอะมาก ประมาณ 20-30 กิโลกรัมขึ้นไป (รวมน้ำหนักแบตเตอรี่) เหมาะสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย ผู้ใช้ที่น้ำหนักเยอะช่วงตัวกว้าง ลักษณะคล้ายกับรถเข็นแบบแมนนวล

  • โครงสร้างจะมีทั้งเหล็กและอลูมิเนียม
  • สามารถรับน้ำหนักได้ค่อนข้างเยอะสูงสุดถึง 150 กิโลกรัม (แล้วแต่รุ่นนะคะ)
  • เมื่อปิดสวิตซ์การใช้งานผู้เข็นสามารถเข็นให้ผู้นั่งได้
  • มีราคาถูกกว่ารถเข็นไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเบา
  • ไม่เหมาะสำหรับการพับ-กางบ่อยๆ(เพราะต้องถอดแบตเตอรี่)

       3. รถเข็นช่วยเดิน(Rollater)

ตามชื่อเลยค่ะเป็นรถเข็นที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เดินทางไกลหรือผู้สูงอายุที่ต้องการทำกายภาพบำบัด วัสดุส่วนมากเป็นอลูมิเนียมเพราะทำให้น้ำหนักเบาและไม่เป็นสนิม น้ำหนัก 8-15 กิโลกรัม รถเข็นประเภทนี้ไม่ควรมีน้ำหนักเยอะเพราะจะให้ผู้ป่วยบังคับลำบาก บางรุ่นสามารถนั่งพักชั่วคราวได้

ราคาอยู่ที่ 5,000-15,000 บาท

4. รถเข็นนั่งถ่าย

บางท่านอาจจะเข้าใจว่ารถเข็นนั่งถ่ายและรถเข็นอาบน้ำเหมือนกันหรือสามารถใช้งานร่วมกันได้ อีไลฟ์ขอบอกตรงนี้เลยค่ะว่าไม่จริง ก่อนซื้อควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ก่อนนะคะ ถึงรถเข็นนั่งถ่ายจะกันน้ำได้ระดับนึงแต่อะไหล่ของรถเข็นนั่งถ่ายจะมีผสมเหล็กเมื่อโดนน้ำเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้เกิดสนิมและผุกร่อนได้ และควรเช็ดทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ การเลือกรถเข็นนั่งถ่ายอย่างแรกเลยคือต้องทำความสะอาดง่าย สามารถเข็นได้ มีตัวล็อคล้อกันลื่น สามารถครอบกับตัวชักโครกได้พอดี

ราคาอยู่ที่ 4,000 บาทขึ้นไป

 

สรุป

รถเข็นธรรมดาสำหรับพกพา เหมาะกับผู้นั่งที่น้ำหนัก 40-60 กิโลกรัม ใช้งานชั่วคราว ไม่ได้นั่งบนรถเข็นตลอด ใช้เดินทางท่องเที่ยวกันเมื่อย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องเข่าเวลาเดินทาง

รถเข็นไฟฟ้าสำหรับพกพา เหมาะกับผู้นั่งที่น้ำหนัก 40-120 กิโลกรัม ใช้งานระยะยาวได้ ผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดังนึง ท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ใช้เดินทางบ่อยๆ

รถเข็นธรรมดาสำหรับใช้งานประจำ เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่น้ำหนัก 40-120กิโลกรัม ช่วงสะโพกกว้าง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นั่งบนรถเข็นเป็นส่วนใหญ่หรือใช้รถเข็นบ่อย ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

รถเข็นไฟฟ้าสำหรับใช้งานประจำ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการที่น้ำหนัก 40-120กิโลกรัม ใช้ชีวิตประจำวันบนรถเข็น ใช้งานในบ้านหรือนอกบ้าน กำลังขาน้อย ผู้พิการทางขาเช่นกล้ามเนื้ออ่อนแรง

รถเข็นช่วยเดิน เหมาะสำหรับผู้สูงอายุกายที่ต้องการภาพ ยังสามารถเดินได้ช่วยเหลือตัวเองได้แต่เดินไม่ถนัด ผู้สูงอายุที่ต้องเดินทางไกลๆ ออกกำลังในหมู่บ้าน ไม่เหมาะสำหรับการนั่งนานๆ

รถเข็นนั่งถ่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

การเลือกรถเข็นสักคันก็เหมือนเลือกเสื้อผ้า ท่านควรพาคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใช้งานไปทดลองของจริงก่อนซื้อ เพราะในปัจจุบันรถเข็นแมนนวลและรถเข็นไฟฟ้ามีมากมายหลายรุ่นให้ท่านได้เลือกตรงกับความใช้งาน