fbpx

เงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท ได้จริงมั้ย แล้วใช้ยังไง?

เงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท ได้จริงมั้ย แล้วใช้ยังไง?

ด้วยนโยบายของรัฐบาล ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเลท 10,000 บาท อาจมีหลายท่านที่ยังสับสน และไม่เข้าในขั้นตอนการแจกเงินดิจิทัลวอลเลท และไม่มั่นใจในสิทธิของตนเอง วันนี้ เราได้รวบรวมข้อมูล ผู้มีสิทธิได้รับ เงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลวอลเลท การลงทะเบียนรับสิทธิ์ วิธีการรับและใช้เงินดิจิทัลวอลเลทผ่านแอปพลิเคชั่น มาสรุปง่ายๆ ให้ทุกคนเข้าใจกันค่ะ

ใครมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลวอลเลทบ้าง?

ในส่วนของเงื่อนไข ของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลวอลเลท ทางรัฐบาลได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนแล้ว ดังนี้

– ประชาชน ที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
– เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
– เป็นบุคลที่มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์
– จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือ เงินเดือนมากกว่า 70,000 บาท ต่อเดือน
– ต้องมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

แล้วเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อไหร่ แล้วลงทะเบียนหรือยืนยันตัวตนยังไง?

รัฐบาลได้ประกาศออกมาแล้วว่า การเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินดิจิทัลวอลเลท จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนภายในไตรมาสที่3 ของปี พ.ศ. 2567 และจะได้รับเงินภายในไตรมาสที่4 ของปีเดียวกัน ช่องทางการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเลทนั้น ทางรัฐบาล ได้เปิดแอปพลิเคชั่นสำหรับการลงทะเบียน รับเงิน และใช้จ่าย ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบ ทั้งการระบบเว็บไซต์, ระบบการลงทะเบียน, การตรวจสอบคุณสมบัติประชาชน และร้านค้า, ระบบการใช้จ่าย, ระบบการชำระเงิน, การตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายกับธนาคารอื่นๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ซึ่งขั้นตอนในการลงทะเบียนใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น มีดังนี้

1. ดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐ
2. เปิดแอปฯ ทางรัฐ แล้วเลือก สมัครสมาชิก
3. สแกนบัตรประชาชน และ ใบหน้าของผู้ใช้งาน
4. ระบุบัญชีผู้ใช้ และ รหัสผ่านเพื่อเริ่มใช้งาน

แต่ช้าก่อน !!  การลงทะเบียนใช้งาน อาจะดูง่ายๆใช่มั้ยล่ะคะ แต่ทั้งนี้ ยังมีการยืนยันตัวตน เพื่อใช้งาน ซึ่งการยืนยันตัวตนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะมี 2 กลุ่ม กลุ่มคนที่เคยลงทะเบียนร่วมโครงการกับรัฐบาล ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนมาก่อนหน้า หรือกลุ่มคนเก่า และ กลุ่มคนใหม่ที่ไม่เคยร่วมโครงการกับรัฐบาลมาก่อน จะมีขั้นตอนร่วมรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต่างกันดังนี้

  • กลุ่มคนเก่า ที่เคยยืนยันตัวตน ไม่ต้องเริ่มต้นยืนยันตัวตนซ้ำ ให้กดรับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ เท่านั้น โดยรัฐบาลจะดึงฐานข้อมูลของรัฐเดิมมาใช้ในระบบใหม่ ไม่ว่าจะเคยเข้าร่วมโครงการใดๆก่อนหน้ากับทางรัฐ ไม่ว่าจะเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง หรือโครงการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ก็สามารถกดรับสิทธิ์เงินดิจิทัลวอลเลทได้เลย
  • กลุ่มคนใหม่ ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการใดๆกับทางรัฐบาล จะต้องลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท และยืนยันตัวตน ถึงจะได้รับสิทธิ์ ซึ่งการยืนยันตัวตน จะต้องยืนยันตัวตน ผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือ7-11 ในพื้นที่ โดยลงทะเบียนการใช้งานแอปพลิเคชั่น ทางรัฐ และทำตามขั้นตอน ดังนี้

• เปิดแอปฯ ทางรัฐ แล้วเลือกช่องทางการยืนยันตัวตน โดยกดเลือก “ยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven”
• ระบุเลขบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์มือถือ จากนั้นกด “สร้าง QR Code”
• แจ้งพนักงานว่า มายืนยันตัวตนแอปฯ ทางรัฐ และแสดง QR Code ให้สแกน จากนั้นเสียบบัตรประชาชนที่เครื่องอ่านบัตร รับใบเสร็จ
• แล้ว กดลิงก์ที่ได้จาก SMS เพื่อดำเนินการต่อในแอปฯ ทางรัฐ

 

• หลังจากกดลิงก์ที่ได้รับทาง SMS จะเข้าสู่ขั้นตอนสแกนใบหน้าในแอปฯ ทางรัฐ ศึกษาข้อแนะนำแล้วกด “เริ่มสแกนใบหน้า”
• สแกนใบหน้าโดยจัดวางใบหน้าให้อยู่ในกรอบ
• เมื่อผู้ใช้งานสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว ให้กด “สมัครสมาชิก”

• ศึกษาข้อกำหนดและความเป็นส่วนตัวแล้วกดทำเครื่องหมายที่ช่องสี่เหลี่ยมจากนั้นกด”ยอมรับ”
• กรอกชื่อ บัญชีผู้ใช้ และ รหัสผ่าน ตามคำแนะนำ แล้วกด “ยืนยัน”
• ระบุ Pin Code 6 หลัก เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

• ระบุ Pin Code เดิมอีกครั้งเพื่อยืนยันตัวตน
• เปิดการใช้งานอัตลักษณ์บุคคลโดยกดปุ่ม “ใช้งาน”
• เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้วกด “เริ่มใช้งาน”

• จากนั้นผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้บริการต่างๆ ใน แอปพลิเคชั่นทางรัฐ ได้ทันที

*** เช่นเดียวกับข้อมูลร้านค้า หากเคยลงทะเบียนร่วมโครงการของรัฐไว้แล้ว กระทรวงการคลังก็จะดึงข้อมูลเข้าระบบใหม่ หากยังไม่เคยลงทะเบียน ทางร้านค้า ก็ต้องลงทะเบียน และยืนยันตัวตนเหมือนกันนะคะ ***

และหากไม่มีสมาร์ทโฟนล่ะ จะทำยังไง?

อย่างที่เราเข้าใจกันดีว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนเป็นหลัก แล้วสำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน กลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกล่ะ? เช่น ผู้ป่วยติดเตียง, คนชรา, คนพิการ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะทางรัฐบาลจะให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการใช้จ่ายแทน โดยจะมีระบบการตรวจสอบป้องกันการสวมสิทธิอย่างรัดกุมซึ่งต้องรอการประกาศออกมาให้แน่ชัดอย่างเป็นทางการก่อนนะคะ โดยตอนนี้กำลังพัฒนาระบบ ช่องทางสำหรับการลงทะเบียนในกลุ่มคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ผู้ใช้สิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะไม่สามารถยืมเอาโทรศัพท์อีกคนไปใช้จ่ายได้ เพราะหนึ่งคนต้องมีรหัสหนึ่งเครื่อง ซึ่งคณะกรรมการก็จะต้อง
เตรียมระบบเพื่อรองรับปัญหานี้ไว้ด้วยเช่นกัน

แล้วเงินดิจิทัลวอลเลท ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

สำหรับ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้สิทธิ์ใช้โดยกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมการใช้จ่ายในระดับอำเภอ ยึดตามบัตรประชาชน โดยโครงการฯจะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2570 และจะสามารถซื้อสินค้าได้ ตามนี้

สินค้าและบริการที่เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สามารถใช้ซื้อได้

• สินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคและบริโภค
• เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หรือสินค้านำเข้าอื่นๆที่ไม่อยู่ในหมวดสินค้าต้องห้าม

และในส่วนของสินค้าและบริการที่เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่สามารถซื้อได้นั้น คือ

• สินค้าออนไลน์
• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม
• ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
• ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล
• บัตรเงินสด
• ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
• นำไปชำระหนี้ไม่ได้
• ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้
• ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
• ไม่สามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
• แลกเป็นเงินสดไม่ได้
• แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆไม่ได้

ตอนนี้เป็นเพียงข้อสรุป ข้อมูล และแนวทางการลงทะเบียนและใช้งานเบื้องต้น หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจะรวบรวมข้อมูล และมาสรุปให้ทุกท่านอีกครั้งนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก Sanook.com และ https://xn--72cst3czdd.com/