fbpx

เคล็ดลับ “5อ.” ดูแลสุขภาพเด็กในวัยเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

เคล็ดลับ “5อ.” ดูแลสุขภาพเด็กในวัยเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

โรคอะไรที่เกิดได้กับผู้ใหญ่…ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรคอ้วน การเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคระบาดต่างๆในตอนนี้ สุขภาพด้านจิตใจ ปัญหาการเข้าสังคมในอนาคต หรือภาวะออฟฟิศซินโดรมที่หลายคนอาจเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นแค่กับผู้ใหญ่วัยทำงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเด็กๆในวัยเรียนนั้นเป็นช่วงที่อยู่ในวัยกำที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิต ทั้งร่างกายและสติปัญญา สามารถช่วยเหลือตัวเองทำอะไรด้วยตัวเองได้ เช่น การแต่งตัวเอง ผูกเชือกรองเท้า การเลือกดูสื่อ Social Media ใหม่ๆ มีการจดจำแล้วนำไปใช้ รวมไปถึงการมีสังคมเพื่อนของตัวเองและมีอิสระจากครอบครัวมากกขึ้น ดังนั้นการดูแลเป็นสิ่งสำคัญมากไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ ทักษะ สร้างวินัยให้เด็กเรียนรู้แล้วเข้าใจเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมในอนาคตต่อไปนั่นเอง

ปัญหาเกิดจากปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กในวัยเรียนหรือช่วงอายุ 6-12ปีมีการเปลี่ยนไปจากในยุคอดีตที่ผ่านมา จากเมื่อก่อนที่สามารถออกไปวิ่งเล่นได้เด็กๆกลับต้องอยู่ภายในบ้านและใช้ Smartphone เป็นเพื่อนซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เหมือนดาบสองคมที่มีทั้งโทษและประโยชน์ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กในปัจจุบันส่งผลให้สุขภาพร่างกายเสื่อมถอยลง เพราะ “ขาดการออกกำลังกาย” ที่เกิดจากการ “วิ่งเล่น”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ รพ.รามาธิบดีกล่าว ยิ่งสะท้อนถึงน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์เด็กอ้วนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเด็กป่วยเนื่องจากความอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน พบว่าเด็กมีภาวะไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 66 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 30 น้ำตาลในเลือดระดับเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และลักษณะปื้นดำที่คอซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคเบาหวานร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเผยว่า ความอ้วนอาจส่งผลเสียต่อสมองของลูก ทำให้ความจำแย่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการเรียนหรือการงานในอนาคตได้

และจากที่อีไลฟ์ได้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของเด็กในวัยเรียนจากแหล่งข้อมูลจากหลายๆที่ ก็สามารถสรุปได้เป็นหลักเคล็ดลับ “5อ.” ที่เป็นแนวทางง่ายๆให้พ่อแม่ยุคใหม่ลองนำไปประยุคใช้กับลูกๆในปี 2022 ได้ตามนี้เลยค่ะ


เคล็ดลับ “5อ.” ดูแลสุขภาพเด็กในวัยเรียนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์

อ1. ออกกำลังกาย Excercise

การออกกำลังเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่ากับช่วงวัยใดก็ตาม แต่ในวัยเด็กอาจจะเข้าใจว่าการออกกำลังกาย = กินยาขม เหมือนเป็นกำแพงกั้นไว้และเข้าถึงยากกว่า แต่พ่อแม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เด็กๆและให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า “การออกกำลังกาย = การออกไปเล่นสนุก” ซึ่งเป็นธรรมชาติของเขาที่จะให้ไม่รู้สึกถึงการถูกบังคับและจะออกไปทำด้วยความเต็มใจอีกด้วย โดยที่ลักษณะการเล่นนั้นๆต้องไม่มีการกำหนดรูปแบบกติกาเป็นทางการจนเกินไป สามารถแบ่งได้เป็น 3ระดับดังนี้

  • ระดับที่ 1 การเคลื่อนไหวแบบเบาและน้อย เช่นการเปลี่ยนอริยทจากการนั่งเรียน อ่านหนังสืออย่างเดียวให้ลุกขึ้นอยู่ในท่ายืนบ้าง ใน1ชั่วโมงอาจจะแบ่งเวลาโดยเมื่อนั่งทุกๆ 20นาที ให้เด็กๆลุกขึ้นยืนยืดเส้น,เข้าห้องน้ำ,พักสายตา 5นาที
  • ระดับที่ 2 การเคลื่อนไหวระดับปานกลาง คือการเคลื่อนไหวโดยใช่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความหนักและเหนื่อยในระดับเดินเร็วหรือให้มีเหงื่อออกซึมๆ เช่น การทำงานบ้านต่างๆ กิจกรรมทำอาหาร เล่นฐานเดินป่า ขี่จักรยาน สเก็ตบอร์ด ให้ชีพจรเต้นอยู่ที่ 120-150ครั้ง
  • ระดับที่ 3 การเคลื่อนไหวระดับหนัก การเคลื่อนไหวร่างกายแบบซ้ำและต่อเนื่องโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การวิ่ง กระโดดเชือก เตะบอล เดินขึ้น-ลงบันได ให้ชีพจรเต้น 150ครั้งขึ้นไป

การออกมาเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ : เล่น = ลดอ้วน พัฒนาสมองได้ด้วย

เพราะการเล่นที่พ่อแม่เลือกสรรให้เด็กๆนั่นเป็นแบบอิสระไม่มีการตีกรอบใดๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเด็กๆจึงสามารถได้เลือก คิด ตัดสินใจด้วยตัวเองช่วยส่งเสริมการสร้างจินตนาการของเด็กๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์ที่ไม่อึดอัดหรือจริงจังมากเกินไป ในเวลาเดียวกันเด็กได้ความสนุกเกิดการกระตุ่นให้รู้สึกอยากเล่นต่อหรือต้องการรู้จักโลกใหม่ๆเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น การเล่นเหล่านี้จะยังช่วยพัฒนาสมอง และความสามารถในการรู้จักคิดของเขา จะสนับสนุนให้เด็กมีความยืดหยุ่นและปรับอารมณ์ได้ดี เด็กที่มีโอกาสเล่นมากๆ ทั้งกับคนอื่นและตามลำพัง จึงมีอารมณ์และประสบการณ์ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงกระทบชีวิตจึงไม่ตอบสนองรุนแรงเกินไป ขณะเดียวกันเขาจะก็สามารถจัดการความเครียดได้ดี เพราะขณะที่เล่นสนุกมักเกิดปัญหา เด็กจึงมีโอกาสฝึกฝนคลี่คลายปัญหากระทั่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้

อ2. เออร์โกโนมิก Ergonomic

การยศาสตร์หรือ Ergonomic วัยทำงานส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นหลักสำคัญที่ช่วยลดปัญหาเรื่องภาวะออฟฟิศซินโดรม แต่ความจริงแล้วภาวะการเจ็บปวดเมื่อยต่างๆในร่างกายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ใหญ่เท่านั้นสามารถเป็นได้ เพราะพฤติกรรมของเด็กในตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไปแตกต่างไปจากเด็กยุคก่อน มีการใช้ Smartphone,Taplet ในการเรียนหนังสือหรือกิจกรรมมากขึ้น ยิ่งในช่วงเรียนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19นี้ ยิ่งทำให้การขยับร่างกายของเด็กๆน้อยลงอยู่ในท่านั่งบนเก้าอี้เยอะขึ้นและส่วนใหญ่เด็กๆนั่นจะนั่งในท่าที่ผิดรูป เช่น การนั่งอ่านหนังสือโดยก้มศีรษะมากเกินไปเพราะคุณภาพสายตาที่ยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ ทำให้นั่งหลังคร่อม เมื่อเด็กๆนั่งลักษณะแบบนี้เป็นระยะสะสมนานๆก็จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

สาเหตุที่ทำไมเด็กควรมีสภาพแวดล้อมแบบ Ergonomic

  1. เพราะขนาดศีรษะของเด็กใหญ่กว่าผู้ใหญ่ทั่วไป ทำให้คอต้องรับน้ำหนักค่อนข้างเยอะเมื่อทำกิจกรรมใดๆก็ตาม เด็กๆก็จะต้องก้มให้ชิดกับหนังสือหรือSmartphoneเป็นพิเศษ ทำให้นั่งหลังคร่อม เสียบุคคลิกภาพและส่งผลเสียต่อคอ หลังในอนาคตอีกด้วย
  2. คุณภาพสายตายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ยังมองเห็นไม่ชัดเท่ากับผู้ใหญ่เป็นอีก 1สาเหตุที่ทำให้เด็กๆต้องก้มลงมองใกล้เป็นพิเศษและเกิดผลเสียเช่นเดียวกับข้อที่ 1
  3. ช่วยให้การทำกิจกรรมต่างๆนั้นสะดวกสบาย ไม่ขัดสมาธิในการเรียนรู้ลดปัจจัยเสี่ยงการเจ็บป่วยในอนาคต
  4. เสริมสร้างวินัยและบุคคลิกภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก
  5. เปลี่ยนอริยบท มีการยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนั่งหรือยืน บริหารกล้ามเนื้อให้มีการขยับบ่อยขึ้น

ลักษณะอุปกรณ์ Ergonomic ที่ควรจะเป็น

  1. สามารถปรับให้เข้ากับสรีระของเด็กๆแต่ละช่วงวัยได้ เช่นการปรับระดับสูง-ต่ำ
  2. เลือกใช้กระเป๋าเป้ที่มีสาย Support ไหล่และไม่ใส่หนังสือที่มีน้ำหนักเยอะจนเกินไป
  3. เลือกโต๊ะที่สามารถปรับเอียงเข้าหาตัวเด็กได้อย่างน้อย 40องศา เพื่อที่จะวางให้หนังสือหรือแท็บเล็ตอยู่ในระดับพอดีกับสายตามากขึ้นลดการก้มของศีรษะ
  4. พื้นผิวเป็นเนื้อด้านไม่เงาสะท้อนแสง เพราะแสงสะท้อนอาจทำร้ายสายตาได้
  5. เลือกขนาดที่พอเหมาะสำหรับพื้นที่การใช้สอย มนของแต่ละช่วงอายุ
  6. มีความมั่นคงไม่ลื่นไหลง่าย
  7. วัสดุปลอดภัย โค้งมนลดอันตราย

การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็น Ergonomic Studyspace เหมาะสำหรับเรียนออนไลน์หรือใช้ชีวิตทั่วไป

  1. มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่มีแดดส่องจ้าเกินไปหรือร้อนเกินไปควรมีโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือติดไว้กับโต๊ะเขียนหนังสือ และไฟที่เลือกใช้ควรสามารถเลือกระดับสีและความสว่างได้
  2. ใช้เฟอร์นิเจอร์โทนสีอ่อน สบายตา เช่นที่ขาวเทา สีไม้อ่อน
  3. สีผนังมีสติ๊กเกอร์การ์ตูนดึงดูดและมีสาระเพื่อให้บรรยากาศภายในห้องดูอบอุ่นมากขึ้น
  4. วางต้นไม้ในที่ร่มไว้มุมใดมุมนึง เพื่อให้ความรู้สึกสดชื่นและไว้ให้เด็กๆมองเพื่อพักสายตาจากการอ่านหนังสือ เพราะสีเขียวเป็นสีที่อ่อนโยนป็นสีที่มองแล้วให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา ทางวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่า “สีเขียว” เป็นสีโทนเย็น และ ไม่ดูดแสง
  5. เลือกใช้โต๊ะ-เก้าอี้แบบปรับระดับได้ ตามระดับช่วงอายุเช่นเดียวกับของผู้ใหญ่วัยทำงาน เลือกขนาดให้เหมาะสมกับความสูงและช่วงสรีระ
  6. เลือกพื้นที่ที่เงียบสงบ ไร้เสียงรบกวนจากภายนอกเพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิ

อ3. แอ็คทีฟ Active

การฝึกฝนให้เด็กมีความคล่องแคล่วพร้อมเผชิญกับการรับปัญหาต่างๆ มีภาวะเป็นผู้นำทั้งด้านร่างกายและจิตใจเป็นการฝึกฝนให้รู้จักการตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีเหตุและผล ไม่กลัวต่อการเจออุปสรรคทีความมั่นใจในตัวเอง พ่อแม่หรือครูควรเล่นกับเด็กด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ใหญ่ควรให้เด็กเป็นผู้นำการเล่น อย่าสอน ตัดสินหรือแก้ไข ไม่ควรขัดขวางด้วยการบังคับ หรือเล่นเพื่อความต้องการหรือความพอใจพ่อแม่โดยเด็ดขาด แต่ปล่อยให้เด็กเล่นโดยใช้จินตนาการของตัวเอง และติดตามเรื่องราวในจินตนาการของเขา ไม่เช่นนั้นกฎเกณฑ์ที่เด็กเป็นผู้ใช้จินตนาการที่เขาสร้างขึ้นจะถูกทำลายไปทันที กลายเป็นผู้ดูพ่อแม่เล่นไปแทน หรือไม่ก็จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ เอ่ยถามวิธีเล่นตลอด

พ่อแม่หรือครูควรทำหน้าที่เป็นผู้ชื่นชม กระตุ้นให้เด็กคิดคลี่คลายอุปสรรคปัญหาเอง อาจช่วยบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ตลอดจนหลีกเลี่ยงการแข่งขัน ควรปรับเป้าหมายการเล่นมาอยู่ที่การได้สนุกสนานด้วยกัน รวมทั้งสนับสนุนการออกมาเล่น โดยการจัดเตรียมพื้นที่มีปลอดภัย และของเล่นที่เสริมจินตนาการปลายเปิดที่เหมาะสมกับวัย เช่น ไม้บล็อก ตัวต่อ หรือชุดของเล่นต่างๆ เป็นต้น

อ4. อารมณ์ Emotion

การรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เรียนรู้ที่จะรู้จักใจเย็น,ให้อภัย,ขอโทษ “อารมณ์” ไม่ว่าจะเป็น ดีหรือโกรธใดๆก็ตาม จะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว สังคม เพื่อนหรือสื่อต่างๆเป็นหลัก โดยเฉพาะอารมณ์โกรธที่เป็นปัญหาในเด็กนั้นอาจส่งผลต่ออุปนิสัยการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งการแสดงอารมณ์โกรธหรือโมโหนั้นสามารถแสดงพฤติกรรมได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการกรีดร้อง ปาข้าวของ ทำร้ายเพื่อนๆหรือผู้อื่น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธที่รุนแรง

  • ปัญหาทางร่างกาย เช่นอาการเจ็บป่วย ออทิสติก สมาธิสั้น ไบโพล่าเป็นต้นอีกทั้งโครงสร้างสมองและระดับสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุลก็ส่งผลให้เด็กใจร้อน หงุดหงิด ซึมเศร้าได้
  • ปัญหาด้านจิตใจ พื้นฐานธรรมชาติเป็นคนหงุดหงิดง่าย อารมณ์ร้อน ขาดความอดทน
  • ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในครอบครัว การถูกเลี้ยงดูที่พ่อแม่ใช้กำลังในการตัดสินปัญหา พ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ได้รับความรุนแรงผ่านสื่อต่างๆ

ในกรณีที่เด็กควบคุมความโกรธไม่ได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. เด็กโกรธแบบรับมือได้ คือ พ่อแม่สามารถประคับประคองหรือปลอบประโลมได้ สอนวิธีจัดการความโกรธได้
  2. เด็กโกรธรุนแรงแบบรับมือไม่ได้ คือ เด็กที่โกรธแล้วทำร้ายพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้าง เช่น กัดและหยิกจนเป็นแผล ปาข้าวของ

การสอนวิธีบริหารจัดการความโกรธ (Anger Management) ให้กับลูกคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  • พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองมีความโกรธให้นิ่งหรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อย ๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความนุ่มนวล ทำให้เด็กเห็นเป็นประจำเพื่อให้ซึมซับตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธ
  • ปล่อยเด็กให้อยู่กับตัวเองแล้วค่อยอธิบายภายหลัง หากเด็กมีความโกรธไม่รุนแรง เช่น หน้าบึ้ง ร้องไห้ ฮึดฮัด เป็นต้น ลองปล่อยให้อยู่กับตัวเองจนใจเย็นลง แล้วค่อยเข้าไปถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าถึงความคับข้องใจของเขา พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ในการที่จะรับฟัง อย่าตำหนิ แต่ควรชี้ให้เขาเห็นว่าอะไรคือผลที่ตามมาจากการกระทำของเขา สอนให้เขารู้จักที่จะขอโทษ เช่นเดียวกับการรู้อภัย  และบอกถึงวิธีจัดการความโกรธที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ครั้งต่อ ๆ ไปที่จะตามมาในอนาคต และเส้นทางอื่น ๆ ในการระบายความรู้สึกไม่พอใจในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ต้องผ่านความรุนแรง เช่น เมื่อโกรธให้ถอยออกมาจากวงของความขัดแย้ง สงบสติอารมณ์ แล้วแยกตัวไปอยู่ในที่ที่เงียบสงบหรือไปเล่นดนตรี เล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  • เข้าใจความโกรธของเด็ก เมื่อเห็นเด็กโกรธ พ่อแม่ผู้ปกครองบอกเด็กให้รู้และเข้าใจว่าความโกรธของเขาถือเป็นเรื่องธรรมชาติปกติ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโกรธได้ แต่เมื่อโกรธแล้วเด็กจะต้องรู้จักวิธีที่จะสงบสติอารมณ์ของตนเองลงให้ได้เสียก่อนเป็นลำดับแรก การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีหนึ่งที่มีความเหมาะสม เมื่อเขาอารมณ์นิ่งขึ้นจึงให้เขาเลือกวิธีที่จะจัดการกับความโกรธของเขาที่ยังเหลืออยู่อย่างเหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้เขาได้หัดคิดและเรียนรู้ โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยประคับประคอง
  • สำหรับพฤติกรรมโกรธที่รุนแรงมากควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ ในกรณีที่เด็กมีการทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และข้าวของ ควรต้องรีบหยุดเด็กในตอนนั้น และพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทันที
  • แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความรุนแรงในสังคม ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งข่าว ละคร มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงปรากฏขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรอธิบายเหตุผลให้เด็กฟังและฟังความคิดเห็นของเด็กเพื่อแนะนำอย่างเหมาะสม

อ5. อบอุ่น Relax & Safezone

อบอุ่นในที่นี้หมายถึงการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้ความรักและเอาใจใส่กับเด็กๆในด้านของอารมณ์ ความรู้สึก ครอบครัวเป็นสถานที่แรกที่เป็นบ้านและพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ การให้ความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ความรักความอบอุ่น หรือเรื่องมารยาททางสังคมอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ผู้ปกครองจึงเป็นหนึ่งบทบาทสำคัญที่จะช่วยดูแลเด็กวัยเรียนให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์

  • ผู้ปกครองควรแสดงความรักต่อเด็ก ชื่นชมและยินดีต่อความสำเร็จของเด็ก
  • สร้างความรับผิดชอบให้กับเด็ก เช่น ขอให้เด็กช่วยงานบ้าน
  • พูดคุยเกี่ยวกับเพื่อน โรงเรียน และสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • สอนให้เด็กรู้จักการเคารพผู้อื่น และรู้จักช่วยเหลือคนอื่น
  • สอนให้เด็กรู้จักการตั้งเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
  • สอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะอดทน ยอมให้คนอื่นก่อน หรือยอมทำงานให้เสร็จก่อนออกไปเล่น เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้ถึงผลที่ตามมาหลังทำอะไรเสร็จตามกำหนด
  • กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนและปฏิบัติตาม เช่น เวลาที่ต้องนอน เวลาที่สามารถดูทีวีหรือเล่นเกมได้
  • ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ ไปนอนสถานที่กับครอบครัว
  • พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมกับโรงเรียนของบุตรหลาน เพื่อพูดคุยกับครู ทำความเข้าใจหลักสูตรการเรียน
  • ใช้เหตุผลในการพูดคุยแทนที่จะลงโทษเพื่อทำให้เด็กรู้สึกแย่
  • ชื่นชมเมื่อเด็กทำพฤติกรรมดี
  • สนับสนุนให้เด็กกล้าเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ กระตุ้นให้รู้จักแก้ปัญหา
  • ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในโรงเรียนหรือชุมชน

ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.thaihealth.or.th , https://hellokhunmor.com/,https://www.bangkokhospital.com/