fbpx

โรคหลอดเลือดสมองภัยผู้สูงอายุ

โรคหลอดเลือดสมองภัยผู้สูงอายุ

โรคหลอดเลือดสมองภัยผู้สูงอายุ

Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Ischemic  Stroke เป็น “ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน” หรือ “ภาวะสมองขาดเลือด” พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูของหลอดเลือดค่อยๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสม
  2. Hemorrhagic Stroke เป็น “ภาวะหลอดเลือดสมองแตก” หรือ “ภาวะเลือดออกในสมอง” ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองตายมักพบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดมีความเปราะเเละโป่งพอง และสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภาวะโป่งพองของหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคเลือด โรคตับ การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การได้รับสารพิษ การใช้สารเสพติด เป็นต้น
  3. Transient ischemic attack (TIA) เป็น “ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว” มีอาการคล้ายโรคสมองขาดเลือด แต่มีอาการชั่วคราวมักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว จะมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาจึงถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เราสามารถปองกันได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้

  1. ความดันโลหิตสูง ​เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ควรควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 150/90 mmHg ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี
  2. โรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลก่อนอาหารให้อยู่ระหว่าง 80 – 130 mg/dl หรือ น้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้น้อยกว่า 7 เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดในร่างกาย
  3. คอเลสเตอรอลในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะทำให้ร่างกายมีค่าไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  4. โรคอ้วน 
  5. การขาดการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 – 40 นาที เป็นจำนวน 3 – 4 ครั้ง/ สัปดาห์
  6. การสูบบุหรี่จัดและการดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 หน่วย ( standard drink)/ วัน หรือมากกว่า 14 หน่วย/ สัปดาห์  ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1 หน่วย ( standard drink)/ วัน หรือมากกว่า 7 หน่วย / สัปดาห์ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  7. การใช้สารเสพติด
  8. การหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ผู้ที่มีประวัติหยุดหายใจขณะนอนหลับตอนกลางคืน ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่นอนกรนดังๆ หรือมีน้ำหนักตัวมากๆ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำ sleep test ดูว่ามีออกซิเจนในเลือดต่ำในช่วงนอนหลับหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
  9. หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองบริเวณคอตีบ พบในผู้ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการทำอัลตร้าซาวนด์ดูหลอดเลือดบริเวณคอ
  10. หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีลิ้นหัวใจผิดปกติ สามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้ สามารถตรวจคัดกรองได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (echocardiogram)

อาการเตือนโรคหลอดเลือดสมองมี 5 สัญญาณเตือนสำคัญ ดังนี้

  1. ชาหรืออ่อนแรงใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน ทำให้มุมปากตก ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำไหลออกจากมุมปาก
  2. ชาหรืออ่อนแรงที่แขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน สูญเสียการทรงตัว
  3. พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน  นึกคำพูดไม่ออก 
  4. การมองเห็นมีปัญหาฉับพลัน อาจมองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว ตาบอดหนึ่งหรือสองข้าง
  5. มีอาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน

ที่มาจาก http://www.sikarin.com/content/detail/131/stroke-