ตอนนี้มีวัคซีน Covid-19 ยี่ห้อต่างๆมากมายหลายยี่ห้อ และเริ่มมีการใช้ฉีดกับประชาชนแล้วทั่วโลกและก็ยังมีคนสับสนอยู่ว่าวัคซีนแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกันอย่างๆ มีผลข้างเคียงยังไงบ้าง อีไลฟ์ขอแนะนำให้ทุกคนประเมินความพร้อมของตนเองและทำความเข้าใจหลักการและข้อจำกัดของวัคซีนที่ตนเองกำลังจะได้รับอย่างถี่ถ้วนเช่น อาจจะไม่ควรฉีดถ้ามีประวัติอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนสาร PEG หรือสาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงต่อเข็มแรก และไม่ควรฉีดหากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ ขณะนั้น แต่ควรจะรอให้หายป่วย ร่างกายกลับมาเป็นปกติก่อนจึงจะฉีดวัคซีนได้
ดังนั้นวันนี้อีไลฟ์จะมาสรุปวัคซีน 4 ตัวดังที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้ว่ามีความแตกต่างอย่างไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ….
วัคซีนชนิดที่ 1 “mRNA vaccine” บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค
วัคซีนชนิดนี้ เป็นความร่วมมือของบริษัทไฟเซอร์ จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทคของประเทศเยอรมนี โดยใช้เทคโนโลยี mRNA แบบเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งผลการทดลองในคนของไฟเซอร์-ไบออนเทค เผยว่า ผู้เข้าทดลองทั้งหมด 90% จากทั้งหมด43,500 คน มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19 โดยทั้งหมดได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 โดส
- ชื่อวัคซีน : BNT162b2
- ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
- การเก็บรักษา : -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือ -25 ถึง -15องศาเซลเซียส มีอายุ2สัปดาห์
- วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ สอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส
- จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์
- อายุที่สามารถฉีดได้ : 16 ปีขึ้นไป
- ประสิทธิภาพ : 95% (ตรวจเมื่อ 7 วัน หลังจากได้รับโดสที่ 2)
- กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 4 หมื่นคน จากกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย
- ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด บวม แดง / ผลต่อร่างกายโดยรวม : หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย
- อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 4.7 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา
- ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือ มีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก
- ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 600บาท)
- คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 7 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2
- สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในบางประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ บราซิลซาอุดิอาระเบีย และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิสราเอลเป็นต้น
วัคซีนชนิดที่ 2 “วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine)” บริษัทซิโนแวค
ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว วัคซีนตัวที่มาแรงในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ซึ่งเป็นของบริษัทซิโนแวค (SinoVac) ประเทศจีน
- ชื่อวัคซีน : CoronaVac
- ชนิดวัคซีน : วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated virus)
- การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา 3 ปี
- วิธีการทำงานของวัคซีน : เชื้อไวรัสถูกทำให้อ่อนแรง และหมดคุณสมบัติในการแบ่งตัวด้วยสารเคมี วัคซีนมีส่วนผสมของสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant) เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น
- จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 2 สัปดาห์
- อายุที่สามารถฉีดได้ : 18-59 ปี
- ประสิทธิภาพ : 50.7 % (ตรวจเมื่อ 14 วัน หลังจากได้รับโดสที่ 2)
- กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประเทศบราซิล (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลุ่มเสี่ยงสูง) ตรุกี และอินโดนีเซีย หากมีการติดเชื้อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงของโรคได้ โดยสามารถป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 100%
- ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม : ปวดหัว
- อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน
- ใครไม่ควรฉีด :ไม่ควรฉีดถ้าขณะนั้นมีการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19
- ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-30 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-900 บาท)
- คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2
- สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในประเทศจีน และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่น บราซิล ตรุกี อินโดนีเซีย ชิลี โคลัมเบีย เป็นต้น
- สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด (อยู่ในขั้นตอนการติดตามเป็นเวลา1ปี)
3. วัคซีนชนิด “mRNA vaccine” บริษัท โมเดอร์นา
ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 หรือไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้ามาในร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรมจะทำร่างกายมนุษย์สร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาเช่นเดียวกับบริษัทไฟเซอร์
- ชื่อวัคซีน : mRNA-1273
- ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)
- การเก็บรักษา : -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือ ในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป เก็บได้ 30 วัน
- วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ สอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส
- จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์
- อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป
- ประสิทธิภาพ : 94% (ตรวจเมื่อ 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2)
- กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 3 หมื่นคน จากกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย
- ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด บวม แดง / ผลต่อร่างกายโดยรวม : หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย
- อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 2.5 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา
- ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก
- ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-25 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-750 บาท)
- คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2
- สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อิสราเอล เป็นต้น
4.วัคซีนชนิด “viral vector vaccine” ของบริษัท แอสตราเซเนกา
โดยใช้หลักการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในไวรัสพาหะชนิดอื่นๆ เช่น adenovirus เพื่อพาเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาได้ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้ ตัวที่มาแรง ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca ร่วมกับ University of Oxford ของประเทศอังกฤษ
- ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19
- ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์ (Virus vector)
- การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา 6 เดือน
- วิธีการทำงานของวัคซีน : ใช้ไวรัสเวกเตอร์ชื่อ ChAdOx1 นำเอารหัสสารพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนามเข้าสู่เซลล์และเมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วจะเกิดการแปลงรหัสสารพันธุกรรมกลายเป็นโปรตีนหนามเพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามต่อไป
- จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 4-12 สัปดาห์
- อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป (บางประเทศห้ามผู้ที่อายุเกิน 65 ปีฉีด)
- ประสิทธิภาพ : อาจสูงถึง 82.4% ในเคสที่ฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์
- กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประชากรประเทศอังกฤษและบราซิล และเมื่อทำการติดตามปริมาณเชื้อไวรัสในโพรงจมูกของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วพบว่า อัตราการตรวจเจอเชื้อในโพรงจมูกลดลงถึง 67% ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาจะสามารถช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสได้ และพบว่าหากจัดการการฉีดวัคซีนระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองให้ห่างกัน 12 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพดีกว่าได้รับห่างกัน 6 สัปดาห์ ซึ่งล่าสุดทางผู้ผลิตได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่พบในประเทศแถบแอฟริกาใต้อีกด้วย
- ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด: ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม : ปวดหัวอ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อไข้สูงหนาวสั่นปวดตามข้อคลื่นไส้ (ล่าสุด 11 มีนาคม 2564 ที่เดนมาร์ก ออสเตรีย และบางประเทศในยุโรป ได้ชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาออกไป เนื่องจากพบว่ามีผลข้างเคียงในผู้ได้รับวัคซีนบางรายคือเกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ)
- อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากศึกษาระยะที่ 3 จากผู้ทดลอง 12,021 คนพบว่า 79 คน ที่ได้รับวัคซีนมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับรุนแรงหนึ่งในนั้นมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมี 1 รายที่มีการวินิจฉัยว่าเป็นไขสันหลังอักเสบหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สองไปแล้ว14 วัน แต่ยังไม่พบรายงานอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงอันถึงแก่ชีวิต
- ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนหรือกำลังมีไข้สูง
- ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 120 บาท)
- คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 15 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2
- สถานะการอนุมัติิ : ผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศอังกฤษ อาร์เจนตินา อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา ไทย เป็นต้น และมีการอนุมัติฉุกเฉินจาก World Health Organization แนะนำให้ใช้ในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
ข้อมูลจาก : https://www.infoquest.co.th/2021/80720 , https://www.sarakadeelite.com/better-living/covid-vaccine-comparison/