ลมหนาวมาแล้ว ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูเป็นช่วงเวลาที่อากาศจะเย็นลงจากเดิม และในบางพื้นที่อาจจะเย็นลงโดยเฉียบพลัน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายต้องปรับอย่างรวดเร็วเพื่อรับกับอุณหภูมิภายนอก จากสภาวะอากาศแบบนี้จึงทำให้เกิดโรคได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กวัยกำลังโต ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วย 5โรคหน้าหนาว ที่น่ากลัวไม่แพ้ Covid-19 มีโรคอะไรบ้างมาดูกันเลย
- ไข้หวัดใหญ่
อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ต้นเหตุคือ เชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นชา อาการที่พบ คือ หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- โรคปอดอักเสบ
คือภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสที่มีมากเกินไปจนทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนอย่างอื่นในถุงลม ซึ่งเชื้อมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะ สามารถแพร่กระจายเมื่อไอ จาม หรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหาร และน้ำย่อย ผู้ป่วยมักมีอาการไอ จาม เสมหะมาก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก คัดจมูก มีไข้สูงเกิน 2 วัน โรคปอดบวมมักจะพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง หรือในคนที่เป็นโรคหอบหืด พบบ่อยในฤดูหนาว โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชราและเด็กเล็กอายุระหว่าง 5-10 ขวบ
- โรคเท้าปาก
มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปาก มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น
- โรคอุจจาระร่วง
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรต้าไวรัส และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะกำลังเป็นวัยเรียนรู้ ชอบหยิบของเข้าปาก พบได้มากในช่วงเดือน ต.ค. – ก.พ. อาการของโรคคือถ่ายเหลว มีไข้และอาเจียนร่วมด้วย มักมีก้นแดง หากรุนแรงอาจมีเลือดหรือจมูกเลือดปน
- หัด
หัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสรูบีโอราไวรัส พบได้มากในจมูกและลำคอ อาการของโรคคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ก่อนแล้วจึงมีน้ำมูก มักไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกจะแดง ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3-4 วันแล้วจึงขึ้นผื่นแดงๆ ที่หลังหู ลามไปยังหน้าและร่างกายสังเกตได้ว่าจะมีตุ่มใสๆ ขึ้นในปาก กระพุ้งแก้ม และฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรคหัดเท่านั้น และจะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. พอผื่นออกได้ประมาณ 2-3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ
วิธีป้องกันโรคในหน้าหนาวของผู้สูงอายุ
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่น
- ไม่รับประทานอาหารที่มีรสจัด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานยาโรคประจำตัวให้ครบตามแพทย์สั่ง
- สำหรับผู้ที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรัง อุณหภูมิที่ลดลงอาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เช่น โรคเกาต์ ควรทำให้ร่างกายมีความอบอุ่นอยู่เสมอ
- ถ้าหากผู้สูงอายุมีอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนแออัด
ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิก็จะลดลงผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายอย่าลืมสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความหนาเพียงพอ ห่มผ้าให้ร่างกาย อบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ รับประทานอาหารร้อนๆ และหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรง ต้านทานโรคร้ายและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ